ข้อมูลอัตรามรณะเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการคำนวณเบี้ยประกันชีวิต เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในการพยากรณ์จำนวนประชากรและใช้ในการวางแผนของการสาธารณสุข นอกจากอัตรามรณะจะมีความแตกต่างระหว่างเพศ และอายุแล้ว ยังมีความแตกต่างในระดับพื้นที่ด้วย การทราบอัตรามรณะของประชากรที่จำแนกตามเพศ อายุและพื้นที่ และการคาดการณ์อัตรามรณะในอนาคตย่อมเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายทางด้านสาธารณสุขและด้านประชากร รวมทั้งยังมีประโยชน์ในการประกันชีวิตอีกด้วย
การพยากรณ์อัตรามรณะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากอัตรามรณะที่ใช้ในการสร้างตารางมรณะที่เหมาะสมและแม่นยำ สามารถใช้ในการกำหนดเบี้ยประกันชีวิตที่เป็นธรรมและคำนวณเงินสำรองของบริษัทประกันชีวิตได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันชีวิต
ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น การสร้างตัวแบบและการพยากรณ์อัตรามรณะได้มีการพัฒนาเป็นอย่างมาก ตัวแบบต่างๆ ได้ถูกนำเสนอเพื่อช่วยนักประชากรศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ในการคำนวณความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์อัตรามรณะในระยะยาว ตัวแบบพยากรณ์อัตรามรณะที่เป็นที่นิยมคือตัวแบบของลี-คาร์เตอร์ (Lee Carter Model) ตัวแบบปัวซงล็อกไบ-ลิเนียร์ (Poisson Log Bi-Linear Model) ตัวแบบโลจิต (Logit Model) เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยนั้น นักวิจัยหลายท่านได้พยายามสร้างตัวแบบพยากรณ์อัตรามรณะหลากหลายตัวแบบกับข้อมูลประเทศไทย เช่น ตัวแบบ Generalized Linear Models ตัวแบบเบย์เซียนปัวซงล็อก-ไบลิเนียร์ ตัวแบบลี-คาร์เตอร์ ตัวแบบลี-คาร์เตอร์โดยใช้ฟัซซีฟอร์มูเลชั่น วิธีการแปลงของแวง ตัวแบบโลจิสติกส์ วิธีทางธรณีสถิติ ตัวแบบอายุ-เวลา-รุ่นประชากร เป็นต้น โดยผลการศึกษาทั้งหมดพบว่าอัตรามรณะมีแนวโน้มลดลง
นอกจากนี้ ได้มีกลุ่มผู้วิจัยหลายกลุ่ม นำผลการวิเคราะห์อัตรามรณะและข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้อง มานำเสนอบนแผนที่ ที่ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบได้ เช่น แผนที่อัตรามรณะของประเทศสหรัฐอเมริกา แผนที่อัตรามรณะของประเทศแอฟริกาใต้ แผนที่อัตรามรณะของประเทศฝรั่งเศส โดยทั้งหมดพบว่าการนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์อัตรามรณะบนแผนที่ ที่ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบได้ ทำให้เข้าใจผลการวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น และง่ายต่อการนำไปใช้สำหรับบุคคลทั่วไป
การสร้างแผนที่รวมทั้งการพยากรณ์อัตรามรณะ มีประโยชน์ในการพิจารณาอัตรามรณะในอนาคตที่จำแนกตามเขตพื้นที่ อันจะช่วยให้สามารถกำหนดนโยบายและคำนวณค่าต่างๆที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม งานวิจัยนี้จึงดำเนินการสร้างแผนที่และพยากรณ์อัตรามรณะของประเทศไทย จำแนกตามเพศ อายุ และเขตพื้นที่ รวมทั้งสร้าง เว็บแอพพลิเคชัน (Web Application) เพื่อแสดงค่าดังกล่าวให้ง่ายแก่ผู้ใช้งาน